วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

วัตถุประสงค์ในการเขียนบล็อก


         “ สวัสดีค่ะ บล็อกนี้เป็นการรวบรวมข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2559 วัตถุประสงค์ในการเขียนบล็อกนี้ขึ้นมาก็เพื่อเป็นการให้ทุกคนทำความเข้าใจในเรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็น วิธีการเลือกสมาชิกผู้แทนในแต่ละพรรคว่ามีวิธีการหรือขั้นตอนอย่างไรบ้าง ในปี 2559 นี้ ท้าชิงประธานาธิบดีที่เด่นๆก็จะมีด้วยกันอยู่ 2 คนนั่นก็คือ ตัวแทนพรรคริพับลิกัน คือนายโดนัลด์ ทรัมป์ และตัวแทนของพรรคเดโมแครต คือนางฮิลลารี คลินตัน โดยบล็อกของฉันนี้ก็จะรวบรวมประวัติของทั้ง 2 คนไว้พอสังเขป และคนที่ได้เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาก็คือนายโดนัลด์ ทรัมป์ บล็อกของฉันนี้ก็ได้รวบรวมบทความต่างๆที่น่าสนใจในหลายๆเว็บ เช่น นโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นหลังจากที่โดนัลด์ ทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดี เป็นต้น ดิฉันหวังว่าบล็อกนี้จะให้ความรู้หรือความเข้าใจให้แก่ผู้อ่านไม่มากก็น้อย หากมีข้อผิดพลาดประการใดก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย

วันพุธที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ทำเนียบขาว


ทำเนียบขาว


ทำเนียบขาว หรือ ชื่อในภาษาอังกฤษ “White House” คือบ้านพักอย่างเป็นทางการและเป็นสถานที่ทำงานของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา หลังๆได้กลายมาเป็นที่อยู่อาศัยของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาทุกคนนับตั้งแต่ ประธานาธิบดี จอห์น แอดัม ทำเนียบขาวได้มีประวัติมากมาย การต่อเติม การปรับปรุงทำเนียบเป็นต้น เมื่อแรกๆไม่ได้ชื่อทำเนียบขอว หรือ write house อย่างปัจจุบัน  ปีค.ศ.1814 ที่พักของประธานาธิบดีสหรัฐถูกลอบวางเพลิง จึงซ่อมแซมด้วยการทาสีขาวเพื่อปิดรอยที่เกิดจากไฟไหม้และเปลี่ยนชื่อเป็น ทำเนียบขาว ทุกวันนี้ก็เลยได้ชื่อทำเนียบขาวนั่นเอง

เกร็ดความรู้อื่นๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่น่าสนใจ

เกร็ดความรู้อื่นๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่น่าสนใจ
 ชาวอเมริกันในเขต Territories
ผู้ที่อาศัยอยู่ใน Territories หรือ เขตอาณาเขตปกครองของสหรัฐฯ (หมู่เกาะอเมริกันซามัว กวม หมู่เกาะนอร์เทิร์นมาเรียนา เปอร์โตริโกและหมู่เกาะเวอร์จินของสหรัฐอเมริกาจะไม่มีสิทธิในการเลือกตั้งเพราะเขตดังกล่าวไม่จัดเป็นรัฐของสหรัฐฯ จึงพูดได้ว่าเกาะเหล่านี้ถือเป็นแห่งเดียวในจักรวาลที่ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง นั่นเป็นเพราะแม้แต่ประชาชนสหรัฐฯ ที่อยู่ในต่างประเทศ หรือแม้แต่ในอวกาศก็ยังสามารถใช้สิทธิเลือกตั้งของตนโดยใช้ไปรษณีย์หรือจากอวกาศได้
 Popular Vote vs. Electoral Vote
Popular vote คือคะแนนที่นับจากคะแนนเสียงของประชาชนจริงๆ ไม่มีผลทางกฎหมาย แต่สามารถแสดงให้เห็นว่าความนิยมของประชาชนที่แท้จริงเป็นอย่างไร เช่น ในการเลือกตั้ง 2012 โอบามาได้รับ303  Electoral Vote และรอมนี่ได้รับ 206  Electoral Vote ซึ่งดูเหมือนจะห่างกันมาก แต่่คะแนน Popular vote ค่อนข้างใกล้เคียง คือ 50.4% และ 48% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแท้จริงแล้วประชาชนอีกเกือบครึ่งหนึ่งที่ไม่สนับสนุนโอบามา
 ช้าง vs. ลา

ทำไมสัญลักษณ์ของพรรคการเมือง Democrat และ Republican ถึงต้องเป็นช้างกับลา? ที่มาของเรื่องนี้มาจากในสมัยที่ Andrew Jacksonลงสมัครรับเลือกตั้งโดยใช้สโลแกนว่า Let’s the people rule ทำให้พวกนักหนังสือพิมพ์เปรียบเขาเหมือนกับลา ซึ่ง Andrew กลับชอบฉายานี้และนำเอาสัญลักษณ์รูปลาในการหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งต่อมานักหนังสือพิมพ์ชื่อว่า Thomas Nast ได้นำเอาสัญลักษณ์รูปลามาเป็นสัญลักษณ์ของ พรรค Democrat ส่วนสัญลักษณ์รูปช้างเกิดมาจากการที่นาย Thomas วาดการ์ตูนล้อเลียน โดยใช้ช้างเป็นสัญลักษณ์ของพรรค Republican ซึ่งก็ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์อย่างไม่เป็นทางการของพรรคในเวลาต่อมา

อธิบายระบบการเลือกตั้งของสหรัฐฯ

อธิบายระบบการเลือกตั้งของสหรัฐฯ


ทุกๆ 4 ปี ประชาชนชาวอเมริกามีหน้าที่ที่สำคัญในการออกเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีคนต่อไปของประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ระบบการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกานั้นซับซ้อนกว่าของประเทศอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่ประชากรทุกคนของประเทศสามารถออกเสียงเลือกผู้สมัครที่ต้องการเพื่อเป็นประธานาธิบดี หรือนายกรัฐมนตรีได้โดยตรง แต่การเลือกตั้งประธานธิบดีของ สหรัฐฯ  เป็นการออกเสียงทางอ้อม โดยสามารถอธิบายได้ดังนี้
1. เริ่มต้นจากในแต่ละรัฐจะมีการจัดการเลือกตั้งย่อยเพื่อหาตัวแทนของพรรคเพื่อเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี
 2. ในแต่ละรัฐจะมีคณะผู้เลือกตั้ง หรือ Electoral College ซึ่งจะเป็นตัวแทนในการออกเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีแทนประชาชนในรัฐนั้นๆ โดยจำนวนคณะผู้เลือกตั้งของแต่ละรัฐจะมาจากตัวแทนตามจำนวนของเขตการปกของ (district) ของแต่ละรัฐ และ คณะวุฒิสภาอีก 2 คน เช่น มลรัฐแคลิฟอร์เนียมี 53 เขตการปกครอง คณะผู้เลือกตั้งของมลรัฐแคลิฟอร์เนียจึงมี 55 คน (53 + 2) คณะผู้เลือกตั้งจากทุกรัฐรวมทั้งสิ้น 538 คน (มาจากตัวแทนตามจำนวนเขตการปกครอง 438 คน + วุฒิสภา 100 คน)
3. เมื่อมาถึงวันอังคารแรกหลังจากวันจันทร์แรกของเดือนพฤศจิกายนของทุกๆ 4 ปี ประชาชนที่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งก็จะไปที่ศูนย์เลือกตั้งเพื่อเลือกผู้สมัครตำแหน่งประธานาธิบดีที่ตนชอบ เช่น ในการเลือกตั้งในวันที่ 6 พ.ย. 2555 ที่ผ่านมานี้ ประชาชนสามารถเลือก บารัค โอบามา   มิตต์ รอมนีย์ และผู้สมัครจากพรรคเล็กอื่นๆ อีก 2 ท่าน    
 4. การออกเสียงของประชาชนเป็นการแสดงเจตนาแก่คณะผู้เลือกตั้งในรัฐของตนว่าอยากจะให้คณะผู้เลือกตั้งออกเสียงเลือกตั้งไปในทิศทางใด ในหนึ่งรัฐ ไม่ว่าผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่ได้รับเสียงข้างมากจะได้เสียงมากกว่าผู้สมัครคนอื่นๆ มากน้อยแค่ไหน เสียงของคณะผู้เลือกตั้งในรัฐนั้นๆ ทั้งหมดก็จะไปที่ผู้ลงสมัครผู้นั้น ดังนั้น รัฐที่มีจำนวนประชากรหรือเขตการปกครองเยอะกว่า ก็จะมีมีจำนวนเสียงของคณะผู้เลือกตั้งมากกว่า ทำให้รัฐต่างๆ มีความสำคัญต่อผลการเลือกตั้งมากกว่า
 5. เป้าหมายของผู้ลงสมัครในวันเลือกตั้งคือ ผู้สมัครจะต้องได้เสียงจากคณะเลือกตั้งให้ได้มากกว่าครึ่งหนึ่ง(ของ 538 เสียง) หรือ 270 เสียง หากผู้สมัครคนใดได้ 270 เสียงก่อนผู้นั้นก็เป็นผู้ชนะ ทั้งนี้ผลจากการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน เป็นการคำนวนจากการคำนวนเสียงของคณะผู้เลือกตั้งของแต่ละรัฐที่จะไปยังผู้สมัครคนนั้นๆ  ประชาชนสามารถทราบผลอย่างไม่เป็นทางการหลังจากการเปิดการเลือกตั้งประมาณ 12 ชม. หรือเมื่อมลรัฐแคลิฟอร์เนียซึ่งเป็นรัฐสุดท้ายนับคะแนนเสร็จสิ้น     
6. ขั้นตอนต่อไปเป็นการเลือกตั้งของคณะผู้เลือกตั้งและเป็นการออกเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ หรือ National Convention โดยคณะผู้เลือกตั้งจะมารวมตัวกัน เพื่อออกเสียงเลือกผู้สมัครที่ประชาชนข้างมากในรัฐของตนเลือกไว้ แม้ว่าในประวัติศาสตร์ ยังไม่มีการเลือกตั้งครั้งใดที่ผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการจะพลิกผันจากผลการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนแต่ก็ควรระลึกไว้เสมอว่า คณะผู้เลือกตั้งมีสิทธิเสรีในเลือกผู้สมัครซึ่งอาจจะเป็นคนเดียวกันกับที่ประชาชนต้องการหรือไม่ก็ได้

7. และวันที่ 20 มกราคม 2556 หรือ Inauguration Day เป็นวันที่ประธานาธิบดีขึ้นรับตำแหน่งและเริ่มปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ

เปิดสุนทรพจน์แรกของ "โดนัลด์ ทรัมป์" ประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐอเมริกา


          หลังผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ คนที่ 45 ออกมาอย่างเป็นทางการว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์เป็นผู้ได้รับตำแหน่งไปครอง โดยนายทรัมป์จะกล่าวแถลงการณ์แรกในฐานะประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ณ ทรัมป์ ทาวเวอร์สถานที่ประกาศชัยชนะของพรรครีพลับลิกันกลางนครนิวยอร์ค ท่ามกลางประชาชนมากมายที่สนับสนุนเขา

          โดยหลังผลคะแนนชี้ชัดว่าพรรครีพลับลิกันได้รับชัยชนะ รองประธานาธิบดีคนใหม่ มาร์ก เพนซ์ได้ปรากฏตัวบนเวทีต่อหน้าผู้สนับสนุนพรรครีพลับลิกันในเวลาต่อมา และกล่าวว่าค่ำคืนนี้เป็น ค่ำคืนแห่งประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกาได้เลือกผู้ชนะคนใหม่ของประเทศ ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกาซึ่งเต็มไปด้วยความเป็นผู้นำที่จะทำให้สหรัฐฯ กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง โดยตัวเขาเองรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับตำแหน่งรองประธานาธิบดี
          จากนั้น นายเพนซ์ ได้แนะนำประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกาแก่ฝูงชน นายทรัมป์ปรากฏตัวบนเวทีพร้อมภรรยาและลูกๆ ท่ามกลางเสียงโห่ร้องแสดงความยินดีจากประชาชนผู้สนับสนุน นายทรัมป์จับมือแสดงความยินดีกับนายเพนซ์และครอบครัวเพนซ์ ก่อนกล่าวแถลงการณ์แรกในฐานะประธานาธิบดี



          “ขอบคุณมากๆ ขอบคุณอย่างยิ่ง และขอโทษที่ทำให้รออย่างสับสนต่อผลคะแนน เมื่อครู่นี้ผมได้รับโทรศัพท์จากนางฮิลลารี คลินตัน เธอโทรมาแสดงความยินดีกับชัยชนะนี้ และผมได้แสดงความยินดีต่อเธอเช่นกันที่เธอทำงานหนักมาโดยตลอด เธอได้ทุ่มเทอย่างยิ่งเพื่อประเทศของเรา
          “และในเวลานี้ ไม่ว่าพรรคไหน ก็เป็นเวลาที่เราทั้งประเทศจะมุ่งหน้าไปพร้อมๆ กันในฐานะอเมริกา การที่ผมได้รับตำแหน่งนี้มันสำคัญกับผมอย่างยิ่ง ทั้งนี้ผมได้รับความช่วยเหลือและคำแนะนำมากมายจากทุกคนเพื่อที่จะสร้างประเทศให้เป็นอันหนึ่งอันเดียว
          “ซึ่งตลอดเวลาการหาเสียงที่ผ่านมาผมไม่เคยมองว่าเป็นการหาเสียง แต่มองว่ามันคือการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญ และจากนี้ผมจะดูแลประชาชนของประเทศให้ดี เราจะทำงานร่วมกัน สร้างชาติ สร้างความฝันของชาวอเมริกัน (American Dream) ให้กลับคืนมา และตอนนี้ผมอยากจะทำเพื่อประเทศจริงๆ เรามีความสามารถที่จะทำได้ และแน่นอนว่าจะไม่มีใครถูกลืมอีกต่อไป เราจะสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่ และสุดท้าย เราจะดูแลเหล่าทหารผ่านศึกเพื่อให้เขารู้ว่าพวกเขาสำคัญกับประเทศเรามากแค่ไหน
          “ทั้งนี้เรามีแผนการทางเศรษฐกิจที่ดีอย่างยิ่ง ซึ่งจะทำให้ประเทศเติบโตขึ้นเป็นสองเท่า และแม้เราจะเอาอเมริกาเป็นหนึ่ง แต่เราจะยังคงมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อต่างประเทศ และจะดีลกับทุกประเทศอย่างยุติธรรม โดยไม่คุกคาม ไม่มีความฝันอะไรใหญ่เกินไปหรอกครับ
          “ผมอยากขอบคุณทุกคนที่ช่วยผมสร้างประวัติศาสตร์นี้ ขอบคุณพ่อแม่ ครอบครัว ภรรยาผม เมลานี และลูกๆ เพื่อนร่วมงาน ทีมของผม...การเมืองเป็นสิ่งที่ทั้งน่ารังเกียจและหนักหนา แต่ผมได้รับการสนับสนุนที่น่าเหลือเชื่ออย่างยิ่ง
          “การเป็นประธานาธิบดีเป็นสิ่งที่ผมภูมิใจอย่างยิ่งที่จะทำผมดีใจที่ได้เป็นประธานาธิบดีของคุณ...และอาจจะได้เป็นถึง 8 ปี (ผู้คนในฮอลล์ส่งเสียงเชียร์) เราจะเริ่มงานทันทีเพื่อประชาชนของเรา และคุณจะภูมิใจประธานาธิบดีของคุณ ภูมิใจในประเทศของคุณอีกครั้ง ผมรักประเทศนี้ ขอบคุณอย่างยิ่งครับ



ที่มา: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ , www.prachachat.net


อะไร (ที่น่า) จะเกิดขึ้น ถ้า "ทรัมป์" เป็นประธานาธิบดีคนที่ 45 ของอเมริกา


          จากผลคะแนนเลือกตั้งสหรัฐฯ ล่าสุดตอนนี้ที่มีแนวโน้มว่า โดนัลด์ ทรัมป์ มีสิทธิ์อย่างสูงที่จะชนะศึกเลือกตั้ง คนไทยจำนวนไม่น้อยน่าจะมีคำถามเดียวกันว่า จะเกิดอะไรขึ้นถ้า "ทรัมป์" ได้เป็นประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐฯ จริงๆ
          เพื่อไขข้อสงสัยนี้ เลยรวบรวม 5 เรื่องที่น่าจะเกิดขึ้น หากคะแนนเสียงส่วนมากของทุกรัฐเทไปที่เจ้าของประโยคที่ว่า "Today we make America great again!"
          1.ผู้อพยพผิดกฎหมายและมีประวัติอาชญากรรมจะถูกส่งกลับประเทศ
นโยบายของทรัมป์ข้อนี้ฟังดูเหมือนจะสมเหตุสมผล เพราะคนที่ทำผิดกฎหมายและเคยก่ออาชญากรรมก็ควรจะได้รับบทลงโทษตามเหตุปัจจัย โดยมีการประเมินว่าตัวเลขของผู้อพยพที่เข้าข่ายนี้มีอยู่ประมาณ 168,000 คนทั่วประเทศ
          แต่ความไม่สมเหตุสมผลของนโยบายนี้อยู่ตรงที่ตัวเลขในการประเมินของทรัมป์เองนั้นสูงถึง 2 ล้านคน เหตุเพราะคำว่า อาชญากรรม' ของทรัมป์นั้น รวมเอาความผิดลหุโทษอย่างเช่นการขับรถเกินความเร็วที่กำหนดเอาไว้ด้วย
          2.กำแพงกั้นชายแดนระหว่างเม็กซิโกและอเมริกาที่มีช่องโหว่ 75 ไมล์
          ถึงทรัมป์จะบอกว่า กำแพงที่จะสร้างขึ้นเพื่อป้องกันการอพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายบริเวณชายแดนระหว่างเม็กซิโกและสหรัฐฯ จะเป็นกำแพงที่ออกแบบอย่างสวยงาม แต่ดูเหมือนว่าชาวรัฐอริโซนา ซึ่งเป็นรัฐที่มีพรมแดนติดกับเม็กซิโกจำนวนไม่น้อยจะไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ ไม่ต้องพูดถึงคนเม็กซิกันเองที่ไม่พอใจกับนโยบายนี้แน่ๆ เพราะทรัมป์ประกาศชัดเจนว่าฝ่ายที่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการสร้างกำแพงนี้ก็คือเม็กซิโก ไม่ใช่สหรัฐฯ
นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ด้วยว่า กำแพงอันสวยงามของทรัมป์อาจจะมีช่องโหว่ยาวถึง 75 ไมล์ เพราะกลุ่มชาวพื้นเมืองอเมริกันที่อาศัยอยู่บริเวณชายแดนนั้นยืนยันเสียงแข็งว่าจะต่อต้านการสร้างกำแพงของทรัมป์อย่างเต็มกำลัง
          3.อเมริกาต้องมาก่อน
          ทรัมป์เคยประกาศไว้ตั้งแต่เดือน ก.ค. ที่ผ่านมาแล้วว่า ถ้าเขาชนะการเลือกตั้ง สัญญาที่เคยปกป้องประเทศในกลุ่มสมาชิกนาโต้ในกรณีที่ประเทศเหล่านี้โดนโจมตีก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไป และจะช่วยเหลือในกรณีที่ประเทศสมาชิกทำตามพันธสัญญาที่ให้ไว้กับสหรัฐฯ เท่านั้น ซึ่งเชื่อว่าคงไม่ใช่นโยบายที่ประเทศในกลุ่มนาโต้จะยิ้มรับอย่างแน่นอน นอกจากนี้ ยังมีเรื่องที่เขาบอกว่าจะถอนกำลังทหารออกจากยุโรปและเอเชียถ้าประเทศพันธมิตรไม่ให้ความสำคัญกับการปกป้องอเมริกา



          4.อเมริกาจะรวยขึ้น แต่โลกจะร้อนต่อไป
          มีแนวโน้มว่าทรัมป์อาจยกเลิกการจ่ายเงินหลายพันล้านดอลลาร์ให้กับ UN เพื่อสนับสนุนโครงการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และนำเงินส่วนนั้นมาใช้ในการพัฒนาโปรเจกต์ที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศแทน ทั้งยังมีแผนที่จะยกเลิกกฎเกณฑ์และข้อบังคับบางอย่างเพื่อทำให้อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของอเมริกาขยายตัวได้มากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมต่างหวาดกลัวกันอย่างมาก
          5.เงินบาทของเราจะแลกเงินดอลลาร์ได้เพิ่มขึ้น
          นักลงทุนคาดการณ์กันว่า ถ้าทรัมป์ขึ้นเป็นประธานาธิบดี ค่าเงินดอลลาร์จะอ่อนตัวลง ตรงกันข้ามกับกรณีที่คลินตันชนะ เพราะในสายตาของนักลงทุนส่วนใหญ่แล้ว ทรัมป์เป็นผู้นำที่สุดโต่ง ขาดประสบการณ์ และคาดเดาทิศทางในการตัดสินใจได้ยาก ซึ่งทั้งหมดนี้จะส่งผลต่อการลงทุนและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอเมริกาอย่างแน่นอน
          และเรื่องค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวลงนี้เกิดขึ้นแล้วทั้งที่ผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการยังไม่ออกมา เพราะค่าการซื้อ-ขายเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ล่าสุดตอนนี้ ลดลง 3.1 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับเงินเยน โดยตกลงจาก 1 ดอลลาร์ต่อ 105.480 เยน ในตอนปิดตลาดช่วงเย็นวันที่ 8 พ.ย. เหลือ 101.890 เยน หลังปิดตลาดช่วงเช้าของวันที่ 9 พ.ย.

ที่มา: http://news.sanook.com/2098630/

นโยบายสุดอึ้ง! โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่


          ทิศทางต่างๆ ของสหรัฐอเมริกากำลังจะเปลี่ยนอีกครั้ง หลังผลการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาครั้งล่าสุด ผลคะแนนส่วนใหญ่ต่างเทคะแนนให้ นายโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน มีชัยเหนือ นางฮิลลารี คลินตันพรรคเดโมแครต อย่างไม่เป็นทางการ กลายเป็นสิ่งน่าประหลาดใจของโลกอีกครั้งหนึ่ง
          นายโดนัลด์ ทรัมป์ กับการก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีอเมริกาคนที่ 45 สร้างความแปลกใจและหวั่นใจให้กับชาวโลกไปพร้อมๆ กัน เนื่องจากการขึ้นเป็นผู้นำของเขา แม้จะเป็นสิ่งที่ท้าทายและแปลกใหม่ แต่สังคมก็ยังมีความไม่มั่นใจในตัวเขาอยู่สูงเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะการบริหารและทิศทางทางการเมืองที่ต่างวิเคราะห์ว่า..ไร้ประสบการณ์
          ที่ผ่านมา นายทรัมป์ มีถูกวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองของเขาเสมอ เนื่องจากว่าเขาคือนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในแผ่นดินสหรัฐอเมริกา เขาไม่เคยมีประสบการณ์ในเส้นทางการเมืองมาก่อน ไม่เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ สมาชิกวุฒิสภา แต่ขึ้นมาเป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีได้แบบก้าวกระโดด
          นโยบายบริหารและการเมืองแบบสุดโต่งของ โดนัลด์ ทรัมป์ มักเป็นที่สนใจทุกครั้งและมักตกเป็นข่าว อื้อฉาวบ่อยครั้ง โดยเฉพาะนโยบายละเอียดอ่อนเกี่ยวกับผู้อพยพ นายทรัมป์ เคยประกาศสร้างกำแพงกั้นพรมแดงระหว่างสหรัฐฯ กับเม็กซิโก เพื่อตัดช่องทางของผู้ลักลอบเข้าเมือง
          อีกทั้งยังมีแผนจะให้เม็กซิโกต้องชำระจ่ายเงินทั้งหมด เนื่องจากเชื่อว่ารัฐบาลเม็กซิโกรู้เห็นเป็นใจให้พลเมืองตัวเองแอบเข้ามาหากินในแผ่นดินสหรัฐ นายทรัมป์ ยังประกาศกร้าวว่า หากพบผู้อพยพก่อคดีในสหรัฐฯ จะบังคับให้ส่งตัวกลับประเทศทันที และเพิ่มบทลงโทษเข้มงวดสำหรับผู้ที่อยู่สหรัฐฯ เกิดกำหนดในวีซ่า พร้อมกับมีแนวคิดไม่ให้ชาวมุสลิมเข้าสหรัฐฯ ด้วย
          เพราะนโยบายนี้เอง ทำให้ นายทรัมป์ ต่างได้ใจชาวอเมริกันผิวขาวส่วนใหญ่ ซึ่งสอดคล้องกับโพลสำรวจผู้ใช้สิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้งที่พบว่า เกินกว่าร้อยละ 52 ต่างลงคะแนนให้ นายทรัมป์ แต่ขณะที่ชาวอเมริกันเชื้อสายลาติน หรือ ฮิสแปนิก ที่ไม่พอใจกับนโยบายนี้ ต่างเทคะแนนให้ นางคลินตัน กว่าร้อยละ 70
          ขณะที่นโยบายบริหารเศรษฐกิจของนายทรัมป์ ที่เคยลั่นวาจาอย่างหนักแน่น ทำให้สื่อวิเคราะห์ว่า สหรัฐฯ อาจจะกลับไปเหมือนช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่บริหารโดดเดี่ยว ไม่พึ่งพาใคร นำการลงทุนจากต่างประเทศกลับมาประเทศตัวเอง เพื่อสร้างงานให้คนในประเทศ
          ทั้งนี้ นายทรัมป์ ยังประกาศลดภาษีนิติบุคคลลงเหลือ 15% จากเดิม 35% กลายเป็นนโยบายที่ทำให้ได้ใจผู้คน แต่ความเสี่ยงหลักๆ เรื่องการตัดขาดทางการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกีดกันสินค้าจากประเทศจีน เป็นสิ่งที่เด็ดเดี่ยวของเขา เนื่องจากอาจจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เนื่องจากยังต้องพึ่งพากำลังการผลิตจากจีนอยู่มาก
          หากมองถึงนโยบายบริหารภายในประเทศของนายทรัมป์ เขาตั้งใจจะลดสถิติอาชญากรรมในประเทศให้ได้ หลังจากระยะหลังๆ มักเกิดกรณีความขัดแย้งระหว่างตำรวจกับคนผิวสีหลายครั้ง พร้อมฟื้นเอาบทลงโทษการประหารชีวิตผู้ต้องหากลับมา ส่วนปัญหาอัตราการว่างงานและสวัสดิการของรัฐบาลต่างๆ ที่จะยกเลิกกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับนโยบายเก่าของ บารัค โอบามา โดยเฉพาะประกันสุขภาพที่เป็นปัญหาเรื้อรังที่จะเปลี่ยนให้ประชาชนจ่ายเอง รักษาเอง
          ปิดท้ายด้วยนโยบายเรื่องกลุ่มก่อการร้าย นายทรัมป์ วางแผนใช้วิธีเจรจาและแทรกแซงเข้าปราบปรามกลุ่มก่อการร้าย เนื่องจากเขามองเห็นว่า ประเทศลิเบีย ล่มสลายเพราะการไม่เข้าไปแทรกแซงช่วยเหลือ เขาต้องการจะเข้าไปเจรจากับประเทศอิหร่าน ทำข้อตกลงเรื่องนิวเคลียร์ และร่วมมือกันถล่มกลุ่มไอซิสให้หมดไป รวมทั้งจะไม่ให้สหรัฐฯ ร่วมปฏิบัตินาโต ถ้าประเทศในสมาชิกไม่ช่วยลงขันด้วย


ที่มา: http://news.sanook.com/2098610/



8 ข้อผิดพลาดของนางฮิลลารี คลินตันและพรรคเดโมแครต กับการปราชัยช็อกโลก

          ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ผ่านมาเมื่อวันอังคาร อาจจะเรียกได้ว่าเป็นผลลัพธ์ช็อกโลก เนื่องจากตัวเต็งอย่างนางฮิลลารี คลินตัน (Hillary Clinton) ที่เป็นตัวแทนของพรรคเดโมแครต และเป็นอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศรวมทั้งสตรีหมายเลขหนึ่ง ประสบความพ่ายแพ้ให้กับนายโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ตัวแทนจากพรรครีพับลิกัน ผู้เป็นมหาเศรษฐีที่ใช้วิธีการหาเสียงและนโยบายในแบบถึงลูกถึงคน เต็มไปด้วยความเกลียดชัง ฉีกจารีตทางการเมืองที่ผ่านมาอย่างสิ้นเชิง
          ชัยชนะของนายโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นเหตุการณ์ที่เหนือความคาดหมาย สำนักโพลและนักวิเคราะห์หลายๆ ท่านทำนายไว้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้น่าจะเป็นของนางฮิลลารีได้ไม่ยากนัก แต่ผลลัพธ์นั้นเป็นไปอย่างตรงกันข้าม มีหลายๆ เหตุผลที่ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้พลิกล็อก และเหตุผลนี้น่าจะเป็นบทเรียนที่ดีสำหรับคนเมืองและฐานอำนาจเดิมในประเทศไทยเป็นอย่างดี



          1. กลุ่มคนที่อยู่ในเขตเมืองขาดปฏิสัมพันธ์และความเข้าใจชีวิตของคนในชนบทอย่างสิ้นเชิง
          เป็นที่ค่อนข้างแน่ชัดว่า เขตเมืองใหญ่ที่มีประชาชนที่มีการศึกษา มีงาน มีฐานะที่ดีอยู่มากนั้นโหวตให้กับนางฮิลลารี แต่ในชนบทผลกลับตรงกับข้าม ซึ่งเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าชาวเมืองนั้นไม่มีความเข้าใจถึงความต้องการของคนในต่างจังหวัดผลเลือกตั้งแบบนี้อันที่จริงเป็นเรื่องที่ไม่แปลก แต่ที่แปลกคือความแตกต่างของตัวเลือกระหว่างเขตเมืองและชนบทมีความชัดเจนและระยะห่างมากในครั้งนี้
          ตัวอย่างเช่น ในรัฐฟลอริดา ซึ่งเป็นรัฐสำคัญ เมืองไมอามีนั้นเป็นของนางฮิลลารีอย่างท่วมท้น คะแนนที่เธอได้นั้นมากกว่าการเลือกตั้งในปี 2012 ที่นายโอบามาชนะนายมิตต์ รอมนีย์ เสียอีก แต่นั่นก็ไม่เพียงพอเพราะนายทรัมป์ก็เหมาเสียงชาวชนบทในรัฐฟลอริดาแบบท่วมท้นเช่นกัน
          ผลลัพธ์ของการเลือกตั้งครั้งนี้น่าจะทำให้คนเมืองสำนึกได้ว่า สิ่งที่ตนคิดและชีวิตความเป็นอยู่ของตนนั้นเป็นไปอย่างโดดเดี่ยวเดียวดาย ชาวเมืองส่วนใหญ่มั่นใจว่านางฮิลลารีจะชนะแน่นอน ไม่มีทางที่คนในประเทศของเขาจะเลือกคนอย่างทรัมป์ แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่



          2. ผู้สนับสนุนนายทรัมป์เป็นเสียงเงียบที่ไม่อยากเผยตัว ไม่มีใครกล้ายอมรับและบอกผลกับโพลต่างๆ เพราะกลัวถูกมองว่าประหลาด
          หากเราดูสื่อใหญ่ๆ ของอเมริกา เราจะเห็นได้ค่อนข้างชัดเจนว่านายทรัมป์นั้นจะถูกมองว่าเป็นตัวตลกตลอด สิ่งที่เขาพูดจะโดนล้อผ่านสื่อต่างๆ ไม่เคยมีสื่อยักษ์ใหญ่ไหนที่ให้ภาษีเขาในการลงแข่งขัน ฝ่ายผู้สนับสนุนนางฮิลลารีก็จะคิดว่าพวกที่สนับสนุนทรัมป์เป็นผู้ที่ โง่” “ประหลาด” “ไร้การศึกษา” “ไม่เข้าใจค่านิยมอเมริกันอะไรต่างๆ นานา ในสังคมเมือง สังคมคนที่มีการศึกษาสูง ในรั้วมหาลัยต่างๆ ที่ส่วนใหญ่สนับสนุนฮิลลารี การเป็นผู้สนับสนุนทรัมป์ในหลายๆ พื้นที่จึงถือว่าเป็นเรื่องน่าอายเลยเสียด้วยซ้ำ
          ด้วยเหตุนี้ มีผู้ให้ความเห็นว่าโพลต่างๆ นั้นจริงๆ แล้วไม่สามารถหยั่งเสียงแล้วเจอผู้สนับสนุนนายทรัมป์ได้เพียงพอที่จะคาดเดาผลลัพธ์ของการเลือกตั้งได้ถูกต้อง ซึ่งทำให้ทีมของนางฮิลลารีนั้นวางแผนผิดพลาด
          3. สื่อออนไลน์ทำให้ผู้คนทั่วไปอยู่ในกะลา ได้รับข้อมูลจากฝ่ายที่ตนสนับสนุนอยู่แล้ว
          นักวิเคราะห์หลายท่านให้ความเห็นว่า สื่อออนไลน์ อย่างเช่น Facebook นั้นทำให้ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนได้รับรู้แต่ความคิดเห็นที่ตัวเองเห็นด้วยอยู่แล้ว ขั้นตอนของโปรแกรมที่ถูกตั้งไว้ (algorithm) ทำให้สิ่งที่เด้งขึ้นมาให้เห็นนั้นเป็นข้อความคิดเห็นในแบบเดียวกับที่ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนท่านนั้นเคยกด Like กด Share หรือเป็นโพสต์ต่างๆจากเพื่อนคนเดิมๆ ที่เขาโต้ตอบด้วยเป็นประจำ การเสพสื่อจากคนรอบข้างออนไลน์แบบนี้ทำให้เกิดมโนคติว่าฝ่ายที่ตนเองชื่นชอบอยู่แล้วนั้นมีผู้สนับสนุนเต็มไปหมด (ภาษาอังกฤษเรียกว่า echo chamber หรือ bubble) ประกอบกับสื่อใหญ่ๆ ก็สนับสนุนนางฮิลลารีกันทั้งนั้น ทำให้เกิดภาพลวงตาว่าพวกเขาน่าจะชนะการเลือกตั้งได้ไม่ยาก



          4. “ความยโสโอหังของฝ่ายอำนาจเก่าโดนลงโทษ
          ฝ่ายอำนาจเก่าในที่นี้หมายถึงชนชั้นผู้นำทางการเมืองของพรรคเดโมแครตของนางฮิลลารี พวกเขาถูกมองว่ามีความยโสโอหังเป็นอย่างมาก จากผู้ที่สนันสนุนพรรครีพับลิกัน
          ก่อนการเลือกตั้ง ไม่เป็นเรื่องที่แปลกนักหากจะมีนักวิเคราะห์ที่เชียร์นางฮิลลารีหยอกล้อกันว่า พรรครีพับลิกันนั้น จบแล้ว” “ไม่ควรมีอยู่แล้ว” “ไม่รู้มีไปทำไมฯลฯ
          ความประมาทนี้เกิดจากความมั่นใจเกินไปของพรรคเดโมแครต และนางฮิลลารี เธอมีวอลล์สตรีทหนุนหลัง สามารถระดมทุนได้มากว่านายทรัมป์ถึงกว่า 13,000 ล้านบาท มีทั้งอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน และประธานาธิบดีโอบามาช่วยเธอหาเสียง เครื่องจักรและเครือข่ายของพรรคเดโมแครตทำงานช่วยเหลือเธอ ความพร้อมเหล่านี้ บวกกับประสบการณ์และชื่อเสียงของเธอ ทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าเธอจะชนะ แต่ด้วยเพราะสิ่งเหล่านี้เช่นกัน ทำให้นายทรัมป์ในสายตาของผู้สนับสนุนหรือผู้ที่ยังไม่ได้ตัดสินใจดูเหมือนเป็นผู้ถูกรังแก ไม่มีอดีตประธานาธิบดีคนไหนสนับสนุนเขา ผู้นำในพรรครีพับลิกันหลายคนก็ไม่สนับนุนนายทรัมป์ ทั้งๆที่เขาอยากจะทำลายขั้วอำนาจเก่าที่ทำให้ประชาชนกลุ่มใหญ่รู้สึกถูกเอาเปรียบมานาน
          5. ตัวเลือกที่ผิดตั้งแต่ต้น
          นางฮิลลารีมีจุดอ่อนมากมาย การที่เธอมีประสบการณ์มากในทางการเมือง ทำให้เธอถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาสังคมต่างๆ ที่ประชาชนในชนบทกำลังเผชิญ และผู้คนในเมืองใหญ่ไม่มีทางเข้าใจพวกเขาได้ เธอจึงไม่ได้สร้างความตื่นเต้นให้กับการเลือกตั้งครั้งนี้สำหรับคนกลุ่มใหญ่
          นอกเหนือจากนั้น เธอยังมีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือ เช่น เรื่องการที่เธอใช้อีเมลส่วนตัวของเธอแทนที่จะใช้อีเมลทางการในการติดต่องานในขณะที่เธอเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ และเรื่ององค์กรการกุศลของสามีของเธอถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับแหล่งที่มาของเงิน สองเรื่องนี้เป็นปัจจัยใหญ่ที่ทำให้ความน่าเชื่อถือของเธอลดลงจนเป็นปัญหา และนายทรัมป์เองก็มองเห็นจุดอ่อนนี้ และใช้มันเล่นงานนางฮิลลารีในระหว่างการหาเสียง

          มีตัวเลือกของพรรคเดโมแครตหลายๆ คนที่โดนมองข้าม หนึ่งในนั้นคือนายเบอร์นี แซนเดอร์ส (Bernie Sanders) ซึ่งต้องการทำให้สหรัฐอเมริกาเป็นรัฐสวัสดิการมากขึ้น นายเบอร์นีไม่มีข้อครหาเหมือนนางฮิลลารี เขาต่อต้านบริษัทยักษ์ใหญ่ ต่อต้านวอลล์สตรีท แต่เครื่องจักรทางการเมืองของพรรคเดโมแครตก็เทเสียงสนับสนุนให้กับนางฮิลลารีในการเลือกตั้งภายในของพรรค มีข้อกล่าวหาว่าทางผู้นำและคนทำงานในพรรคเดโมแครตมีความลำเอียง พยายามทำให้นางฮิลลารีได้เปรียบนายเบอร์นีในหลายๆทาง



          6. ไม่มีความเอาใจใส่ฐานเสียงเดิม
          นางฮิลลารีไม่สามารถรักษาฐานเสียงเดิมของนายโอบามาไว้ได้ มีในหลายพื้นที่และคนหลายกลุ่มที่นายโอบามาสามารถเรียกเสียงสนับสนุนในการเลือกตั้งปี 2012 แต่ในปีนี้นางฮิลลารีไม่สามารถรักษาฐานเสียงนั้นไว้ได้ ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดและเป็นเหตุผลหลักของความปราชัยคือ ในแถบรัสต์เบลต์ (Rust Belt) ทางตอนตะวันออกเฉียงเหนือของอเมริกา ที่มีรัฐวิสคอนซิน รัฐมิชิแกน รัฐโอไฮโอ และรัฐเพนซิลเวเนีย ซึ่งเคยเทคะแนนเสียงให้โอบามานั้น กลับมาสนับสนุนนายทรัมป์ในการเลือกตั้งครั้งนี้ รัสต์เบลต์เป็นฐานผลิตรถยนต์ มีเหมืองแร่ถ่านหินและเขตอุตสาหกรรมหนักอื่นๆของอเมริกา แรงงานในแถบนี้ชอบทรัมป์เพราะเขาเป็นนักธุรกิจ เอาจริงเรื่องการจัดการกับคนหลบหนีเข้าเมือง เขาจะเอาจริงเรื่องการต่อรองเจรจาข้อตกลงการค้าต่างๆ เพื่อทำให้อเมริกาได้เปรียบ และรักษางานสำหรับแรงงานเหล่านี้ไว้ในประเทศ คนกลุ่มนี้ปกติแล้วคือฐานเสียงของพรรคเดโมแครตที่ต้องการสวัสดิการสังคมต่างๆ โอบามาทำได้ดีกับคนกลุ่มนี้ แต่นางฮิลลารีไม่ได้ให้ความสำคัญเพราะทางทีมงานของเธอมีความมั่นใจว่าฐานเสียงตรงนี้เป็นของพรรคเดโมแครต เธอไม่เคยไปเยือนรัฐวิสคอนซินหลังได้รับเป็นตัวเลือกของพรรคเดโมแครต และไปเยือนเมืองดีทรอยต์ที่เป็นแหล่งผลิตรถยนต์ของสหรัฐฯในรัฐมิชิแกนเพียงวันศุกร์ที่ผ่านมาก่อนการเลือกตั้งเท่านั้น
          7. มีคนที่รู้สึกว่าสิทธิและความคิดเห็นของตนถูกละเลยมากพอ
          กลุ่มคนในแถบรัสต์เบลต์ ผู้ใช้แรงงาน คนในเขตชนบท และคนที่มีอายุสูง มีความรู้สึกถูกเอาเปรียบจากโลกโลกาภิวัตน์ พวกเขาไม่สามารถปรับตัวกับโลกยุคดิจิทัล หลายคนตกงานเพราะงานถูกส่งไปให้โรงงานในต่างประเทศที่ค่าแรงถูกกว่า ผู้คนเหล่านี้เจ็บปวด รู้สึกว่าสิทธิและความคิดเห็นของตนถูกมองข้าม โดนเอาเปรียบจากผู้กุมอำนาจการเมืองในเมืองหลวง และอำนาจเศรษฐกิจในเมืองใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่จะให้การสนับสนุนนางฮิลลารีแบบไม่ตั้งคำถามด้วยซ้ำ ฐานเสียงตรงนี้เป็นกลุ่มคนที่นายเบอร์นีมองออก และหลายคนพร้อมสนับสนุนนายเบอร์นีเพราะนโยบายรัฐสวัสดิการของเขา แต่ในเมื่อพรรคเดโมแครตให้นางฮิลลารีเป็นตัวเลือก ซึ่งเธอมีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือ เสียงเหล่านี้จำนวนหนึ่งจึงเหวี่ยงไปให้กับฝั่งตรงข้ามคือนายทรัมป์ที่พยายามเจาะจงหาเสียงกับคนกลุ่มนี้ และมันก็เป็นจำนวนที่มากพอจะทำให้นายทรัมป์ได้รับชัยชนะ



          8. กลุ่มผู้หญิง แอฟริกันอเมริกัน และชาวอเมริกาใต้ ไม่ออกมาใช้เสียงมากพอเพื่อสนับสนุนนางฮิลลารี
          นางฮิลลารีหวังไว้ว่าเธอจะสามารถพึ่งฐานเสียงที่ถูกทอดทิ้งจากชนชั้นนำได้ แต่เธอกลับทำได้ไม่ดีและแย่กว่านายโอบามาในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วเสียอีก ผู้หญิงที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีสนับสนุนนางฮิลลารี 51% แต่สนับสนุนนายทรัมป์ถึง 45% ซึ่งถือว่าเป็นคะแนนเสียงที่นายทรัมป์ดึงไปจากนางฮิลลารีได้เยอะมาก ทางพรรคเดโมแครตหวังไว้ว่าจะได้มากกว่านี้อย่างแน่นอนเพราะการพูดดูถูกเสียดสีผู้หญิงของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่น่าจะทำให้เรียกคะแนนเสียงได้ แต่ความจริงก็เป็นไปอย่างตรงกันข้าม
          กลุ่มชาวแอฟริกันก็เช่นกัน พวกเขาเทคะแนนเสียงทั้งหมด 88% ให้นางฮิลลารี แต่ในปี 2012 กลุ่มนี้โหวตให้โอบามาถึง 93% ส่วนกลุ่มชาวอเมริกาใต้ (ลาติโน) ที่นายทรัมป์ดูถูกเสียดสีมาตลอดนั้นโหวตให้กับนายทรัมป์ถึง 29% ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่เหนือความคาดหมาย ตัวเลขต่างๆ เหล่านี้แสดงให้เห็นว่าประชาชนให้ความสนใจเรื่องเพศ เรื่องสีผิว เรื่องเชื้อชาติ น้อยกว่าปัญหาปากท้อง ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม และปัญหาความน่าเชื่อถือของนางฮิลลารี ทำให้นางฮิลลารีเป็นตัวเลือกที่ไม่ตื่นเต้น และส่งผลให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งโดยเฉพาะชนกลุ่มน้อยและผู้หญิงออกมาใช้เสียงกันน้อยกว่าจำนวนที่พรรคเดโมแครตและนางฮิลลารีหวังไว้ และถ้าออกมา พวกเขาเหล่านี้ก็ไม่ได้สนับสนุนนางฮิลลารีในจำนวนที่คาดการณ์ไว้



          ข้อผิดพลาดทั้งหมดที่กล่าวมาของนางฮิลลารีและพรรคเดโมแครตถ้าหากมองหลังการเลือกตั้งแล้วจะเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่นักแต่นักวิเคราะห์ นักวางแผน และทีมเลือกตั้งของนางฮิลลารีคาดการณ์ไว้ผิดหมด จึงทำให้เราเห็นผลของการเลือกตั้งแบบช็อกโลกเช่นนี้
          การเปลี่ยนแปลงทางภาคสังคม ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจการรู้สึกถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ที่มีโอกาสมากกว่าเป็นปัญหาที่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในสหรัฐอเมริกา อาจจะเรียกได้ว่าประเทศไทยเราเองเจอปัญหานี้มาก่อนสหรัฐอเมริกาเสียอีก และยังเป็นปัญหาเพิ่มขึ้นทุกวัน มันเป็นปัญหาที่ระบบทุนนิยมทำให้คนที่มีโอกาสทางการศึกษา ทางการเงิน ทางสังคมเดินหน้าได้เร็วกว่าคนที่ด้อยโอกาสและผู้โชคดีเหล่านี้มักจะหลงลืมหน้าที่ของตนเอง เราเอาตัวรอดในสังคมเมืองสังคมชั้นสูง สังคมที่อยู่อย่างโดดเดี่ยวเดียวดายท่ามกลางปัญหาต่างๆที่เราปิดตาและทำเป็นมองไม่เห็นเราทุกคนที่ถือว่าตนเองเป็นผู้โชคดีเหล่านี้มีหน้าที่ที่จะต้องสร้างความสัมพันธ์กับคนที่มีโอกาสน้อยกว่าคนที่อยู่ต่างจังหวัด คนที่มีฐานะน้อยกว่า คนที่มีการศึกษาด้อยกว่าและคนที่มีความคิดทางการเมืองที่แตกต่างจากเรา เราจะไม่สามารถเดินหนีปัญหาของคนเหล่านี้ และเอาตัวรอดอย่างเดียวดายได้


ที่มา: ไทยพับลิก้า, www.thaipublica.org


"โดนัลด์ ทรัมป์" ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ


          นายโดนัลด์ ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ คนที่ 45 ต่อจากนายบารัค โอบามา
          วันนี้ (9 พ.ย.2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาครั้งที่ 58 ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 8 พ.ย.2559 ตามเวลาท้องถิ่นของสหรัฐฯ และภายหลังการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการเสร็จสิ้นลง นายโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน เฉือนชนะ นางฮิลลารี คลินตัน จากพรรคเดโมแครต โดยได้คะแนนเสียงมากกว่า 290 เสียงจากคะแนนทั้งหมด 538 เสียง โดยฮิลลารีได้ 218 เสียง 
          ทำให้ นายโดนัลด์ ทรัมป์ กลายเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนใหม่ คนที่ 45 อย่างไม่เป็นทางการ แทนที่นายบารัค โอบามา ที่หมดวาระลง
          โดยทรัมป์ใช้แคมเปญหาเสียงว่า "We will make America great again!" โดยมีนโยบายสำคัญคือ สนับสนุนปฏิบัติการภาคพื้นดินในซีเรีย และเร่งปราบปรามกลุ่มไอเอส ที่กำลังเป็นภัยคุกคามต่อประชาคมโลกในขณะนี้, ลดบทบาทสหรัฐฯ, คัดค้านข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน, สานสัมพันธ์กับรัสเซีย, คุมเข้มการตรวจคนเข้าเมือง, สร้างอาชีพ 25 ล้านตำแหน่งให้ชาวอเมริกัน, นโยบายการค้าแบบสหรัฐฯ ต้องมาก่อน
          ชัยชนะในครั้งนี้ทำให้นายทรัมพ์เป็นตัวแทนจากพรรครีพับลิกันคนที่ 19 ที่ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต่อจาก นายจอร์จ ดับเบิลยู บุช



ที่มา: http://news.thaipbs.or.th/content/257544

ฮิลลารี คลินตัน (Hillary Clinton)


           ฮิลลารี คลินตัน หรือชื่อเต็มว่า ฮิลลารี ไดแอน ร็อดแดม คลินตัน เป็นบุตรสาวคนโตของ ฮิวจ์ และโดโรธี ร็อดแฮม  เกิดเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2490 ในนครชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ เติบโตขึ้นในเมืองปาร์กริดจ์ กับน้องชาย 2 คน คือฮิวจ์ จูเนียร์ และแอนโธนี 
          ความใฝ่ฝันของ ฮิลลารี คลินตัน ไม่เพียงแต่อยากจะเป็นนักกฎหมาย นักการเมือง หรือ ประธานาธิบดีเท่านั้น เมื่อตอนเด็ก เธอมีความสนใจในด้านกีฬาเบสบอล นักเขียน และนักบินอวกาศ ครั้งหนึ่งเมื่อตอนเธออายุ 14 เธอได้เขียนจดหมายแสดงความสนใจไปยัง NASA แต่ไม่ได้รับการตอบกลับมาทำให้เธอขุ่นเคืองใจเป็นอย่างมากว่า "พวกเขาไม่รับผู้หญิงเป็นนักบินอวกาศ"
          ฮิลลารี คลินตัน สำเร็จการศึกษาด้านรัฐศาสตร์เกียรตินิยม จากวิทยาลัยสตรีเวลเลสลีย์ก่อนจะเข้าศึกษาต่อวิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยเยล ซึ่งเป็นที่ที่ทำให้เธอรู้จักกับ บิล คลินตัน สามีของเธอ 
          ฮิลลารี คลินตัน เคยติดอันดับ 100 ทนายความผู้ทรงอิทธิพลที่สุดของสหรัฐอเมริกาถึง 2 ครั้ง ในปี 2531 และ 2534


          ฮิลลารี คลินตัน เคยเป็นผู้สนับสนุนรุ่นเยาว์ให้กับพรรครีพับลิกัน และเมื่อปี 2507 ได้ช่วยรณรงค์หาเสียงให้กับ แบร์รี โกลด์วอเตอร์ ตัวแทนพรรคผู้สมัครประธานาธิบดี ก่อนจะเปลี่ยนมาอยู่พรรคเดโมแครตเมื่อปี 2511
          ฮิลลารี คลินตัน แต่งงานกับ บิลล์ คลินตัน เมื่อปี 2518 หลังจากแต่งงาน 5 ปี ทั้งคู่มีลูกสาวด้วยกัน 1 คนชื่อว่า เชลซี คลินตัน กระทั่ง บิล คลินตัน ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนที่ 42 แห่งสหรัฐอเมริกา และเข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 2536 ฮิลลารี จึงได้เป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐอเมริกาคนแรกที่มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาบัณฑิต 
          ฮิลลารี คลินตัน เป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐอเมริกาคนแรก ที่ได้มีสำนักงานอยู่ทางปีกฝั่งตะวันตกของทำเนียบขาว ในขณะที่ก่อนหน้านี้ สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งจะมีหน้าที่ดูแลปีกฝั่งตะวันออกเท่านั้น

          เมื่อปี 2543 ในขณะที่ ฮิลลารี คลินตัน เป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐอเมริกา ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภารัฐนิวยอร์ก และได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกวุฒิสภารัฐนิวยอร์ก ตั้งแต่ปี 2544-2552
          ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาปี 2551 ฮิลลารี คลินตัน เคยลงสมัครเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต ชิงตำแหน่งด้วยเช่นกัน แต่พ่ายแพ้ให้กับ บารัค โอบามา ประธานาธิบดีคนที่ 44 แห่งสหรัฐฯ  
          หลังจากพ่ายแพ้การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาปี 2551 ฮิลลารี คลินตัน ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา คนที่ 67 ในรัฐบาลประธานาธิบดีบารัค โอบามา

          ล่าสุด ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาปี 2559 ฮิลลารี คลินตัน ได้เป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต ช่วงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีกับโดนัลด์ ทรัมป์ นักธุรกิจจากรัฐนิวยอร์ก และนับเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้เป็นตัวแทนพรรคในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา




โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump)


          โดนัลด์ ทรัมป์ หรือชื่อเต็มคือ โดนัลด์ จอห์น ทรัมป์ เกิดเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2489 ในนิวยอร์กซิตี สหรัฐฯ ปัจจุบันอายุ 70 ปี ผ่านการสมรสมาแล้ว 3 ครั้ง โดยภรรยาคนล่าสุดก็คือ เมลาเนีย ทรัมป์ มีบุตรรวมทั้งหมด 5 คน 
          โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นทายาทของ เฟเดอริก ทรัมป์ นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เขาเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยฟอร์ดแฮม และจบการศึกษาจากโรงเรียนธุรกิจวอร์ตัน ของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ก่อนจะเดินตามรอยพ่อของเขาด้วยการมุ่งหน้าเข้าสู่การเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่างเต็มตัว
          นอกจาก โดนัลด์ ทรัมป์ สานต่อธุรกิจของครอบครัวด้วยการขึ้นเป็นประธาน Trump Organization เขายังขยายอาณาจักรของตัวเองให้ยิ่งใหญ่ขึ้น โดยเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ในแมนฮัตตัน มีธุรกิจกาสิโน รีสอร์ท ดำเนินการสร้าง Trump Tower ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกับสำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ และยังขยายธุรกิจสู่อุตสาหกรรมการบิน ทั้งหมดนี้ทำให้ชื่อของ โดนัลด์ ทรัมป์ กลายมาเป็นที่รู้จักในฐานะเจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์




          ความร่ำรวยของ โดนัลด์ ทรัมป์ การันตีได้จากการที่เขามีชื่อติด 1 ใน 500 อันดับมหาเศรษฐีโลก จากการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์บส์ โดยข้อมูลล่าสุด (8 พฤศจิกายน 2559) ทรัมป์มีชื่อในอันดับที่ 156 ด้วยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 3.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.29 แสนล้านบาท นอกจากนี้ในปี 2558 เขายังรั้งอันดับที่ 72 ของผู้ทรงอิทธิพลของโลกด้วย
          นอกจากการจับธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ โดนัลด์ ทรัมป์ ยังเป็นเจ้าของรายการเรียลลิตี้ "The Apprentice" ทางช่อง NBC ที่ทำให้เขากลายมาเป็นเจ้าพ่อสื่อ ขณะเดียวกันเขายังเป็นเจ้าของการจัดประกวดนางงามจักรวาล ซึ่งเป็นเวทีใหญ่ของแวดวงนางงามโลกอีกด้วย
          โดนัลด์ ทรัมป์ เข้าสู่แวดวงการเมืองเป็นครั้งแรกจากการเสนอชื่อเป็นตัวแทนพรรคปฏิรูป เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปี 2543 แต่ได้ถอนตัวไปก่อนเลือกตั้ง กระทั่งเดือนมิถุนายน 2558 เขาได้ประกาศตัวขอเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกัน ในการเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2559 พร้อมลั่นจะนำฝันที่ยิ่งใหญ่กว่ากลับมาสู่ชาวอเมริกัน

          แม้ในช่วงแรก ทางพรรครีพับริกันจะไม่ได้สนับสนุน โดนัลด์ ทรัมป์ ในการลงเลือกตั้งครั้งนี้ ด้วยนโยบายสุดโต่งหลายอย่างของเขา แต่ด้วยความนิยมอย่างล้นหลามจนยากจะมองข้าม ทำให้ท้ายที่สุดทางพรรคจำต้องประกาศให้เขาเป็นผู้สมัครตัวแทนพรรครีพับลิกันอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2559 


          โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นหนึ่งในผู้สมัครลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งเป็นที่ฮือฮามากที่สุด ด้วยการหาเสียงอย่างปากกล้า และมีนโยบายสุดโต่งหลายประการ โดยนโยบายและแนวคิดของทรัมป์ซึ่งตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เช่น
         - เสนอให้สร้างกำแพงกั้นพรมแดนระหว่างสหรัฐฯ และเม็กซิโก เพื่อตัดปัญหาเรื่องผู้อพยพเข้าสหรัฐฯ อย่างผิดกฎหมาย
         - มีแนวที่จะห้ามคนมุสลิมเข้าประเทศชั่วคราว จนกว่าจะมีมาตรการรับมือที่เหมาะสม
         - มุ่งมั่นกำจัดกลุ่มรัฐอิสลาม (ISIS) อย่างจริงจัง
         - มุ่งยุติข้อตกลงเรื่องนิวเคลียร์กับอิหร่าน
         - มีนโยบายลดภาษี หวังจะช่วยสร้างงาน ซึ่งเป็นนโยบายที่นักเศรษฐศาสตร์แสดงความกังวล
         - บอกว่าเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก เป็นเรื่องหลอกลวงทั้งเพ
         - สนับสนุนให้การทำแท้งเป็นเรื่องผิดกฎหมาย และควรมีบทลงโทษสำหรับสตรีที่ทำแท้ง เว้นแต่จะก่อให้เกิดภาวะเสี่ยงต่อชีวิตแม่เด็ก หรือตั้งครรภ์จากการล่วงละเมิดทางเพศ
         - โจมตีจีนในเรื่องการค้าที่เอาเปรียบสหรัฐฯ 
          นอกจากเรื่องนโยบายสุดโต่งที่อาจไม่ถูกจริตหลายคนแล้ว โดนัลด์ ทรัมป์ ยังต้องเผชิญหน้ากับสารพัดข่าวฉาวที่ทำลายความนิยมของเขาไม่ใช่น้อย โดยเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สื่อสหรัฐฯ ได้มีการแพร่บทสัมภาษณ์ของทรัมป์เมื่อปี 2548 ซึ่งมีการพูดจาหยาบคายและเหยียดเพศ ทำให้หลายคนรู้สึกรับไม่ได้แม้แต่คนในพรรครีพับลิกันเองก็ออกมาประณาม นอกจากนี้ยังมีผู้หญิงหลายคนออกมาอ้างว่าเคยถูกทรัมป์ล่วงละเมิดทางเพศ แต่เขาก็ตอบกลับไปเพียงว่า ผู้หญิงพวกนั้นโกหกหลอกลวงและขี้เหร่เกินกว่าที่เขาจะสนใจ
         แต่แม้จะเผชิญกับกระแสทางลบและข่าวฉาวจำนวนมาก แต่ก็อย่างที่เราได้เห็นกันแล้วว่าโดนัลด์ ทรัมป์ ยังคงเป็นหนึ่งในผู้สมัครชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีที่มาแรงจนเป็นที่น่าจับตา ดังจะเห็นได้จากโพลสำรวจของหลายสำนักในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง ที่เขายังคงมีคะแนนสูสีกับ ฮิลลารี คลินตัน แถมบางโพลยังสามารถขึ้นนำได้ด้วย โดยเฉพาะหลังการเลือกตั้งสิ้นสุดลง ผลการนับคะแนนในแต่ละรัฐยังคงเป็นที่น่าลุ้นระทึกด้วยคะแนนเสียงที่สูสีอย่างมาก และล่าสุด โดนัลด์ ทรัมป์ ก็สามารถเอาชนะคู่แข่งมาได้ และจะได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ