วันพุธที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

8 ข้อผิดพลาดของนางฮิลลารี คลินตันและพรรคเดโมแครต กับการปราชัยช็อกโลก

          ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ผ่านมาเมื่อวันอังคาร อาจจะเรียกได้ว่าเป็นผลลัพธ์ช็อกโลก เนื่องจากตัวเต็งอย่างนางฮิลลารี คลินตัน (Hillary Clinton) ที่เป็นตัวแทนของพรรคเดโมแครต และเป็นอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศรวมทั้งสตรีหมายเลขหนึ่ง ประสบความพ่ายแพ้ให้กับนายโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ตัวแทนจากพรรครีพับลิกัน ผู้เป็นมหาเศรษฐีที่ใช้วิธีการหาเสียงและนโยบายในแบบถึงลูกถึงคน เต็มไปด้วยความเกลียดชัง ฉีกจารีตทางการเมืองที่ผ่านมาอย่างสิ้นเชิง
          ชัยชนะของนายโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นเหตุการณ์ที่เหนือความคาดหมาย สำนักโพลและนักวิเคราะห์หลายๆ ท่านทำนายไว้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้น่าจะเป็นของนางฮิลลารีได้ไม่ยากนัก แต่ผลลัพธ์นั้นเป็นไปอย่างตรงกันข้าม มีหลายๆ เหตุผลที่ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้พลิกล็อก และเหตุผลนี้น่าจะเป็นบทเรียนที่ดีสำหรับคนเมืองและฐานอำนาจเดิมในประเทศไทยเป็นอย่างดี



          1. กลุ่มคนที่อยู่ในเขตเมืองขาดปฏิสัมพันธ์และความเข้าใจชีวิตของคนในชนบทอย่างสิ้นเชิง
          เป็นที่ค่อนข้างแน่ชัดว่า เขตเมืองใหญ่ที่มีประชาชนที่มีการศึกษา มีงาน มีฐานะที่ดีอยู่มากนั้นโหวตให้กับนางฮิลลารี แต่ในชนบทผลกลับตรงกับข้าม ซึ่งเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าชาวเมืองนั้นไม่มีความเข้าใจถึงความต้องการของคนในต่างจังหวัดผลเลือกตั้งแบบนี้อันที่จริงเป็นเรื่องที่ไม่แปลก แต่ที่แปลกคือความแตกต่างของตัวเลือกระหว่างเขตเมืองและชนบทมีความชัดเจนและระยะห่างมากในครั้งนี้
          ตัวอย่างเช่น ในรัฐฟลอริดา ซึ่งเป็นรัฐสำคัญ เมืองไมอามีนั้นเป็นของนางฮิลลารีอย่างท่วมท้น คะแนนที่เธอได้นั้นมากกว่าการเลือกตั้งในปี 2012 ที่นายโอบามาชนะนายมิตต์ รอมนีย์ เสียอีก แต่นั่นก็ไม่เพียงพอเพราะนายทรัมป์ก็เหมาเสียงชาวชนบทในรัฐฟลอริดาแบบท่วมท้นเช่นกัน
          ผลลัพธ์ของการเลือกตั้งครั้งนี้น่าจะทำให้คนเมืองสำนึกได้ว่า สิ่งที่ตนคิดและชีวิตความเป็นอยู่ของตนนั้นเป็นไปอย่างโดดเดี่ยวเดียวดาย ชาวเมืองส่วนใหญ่มั่นใจว่านางฮิลลารีจะชนะแน่นอน ไม่มีทางที่คนในประเทศของเขาจะเลือกคนอย่างทรัมป์ แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่



          2. ผู้สนับสนุนนายทรัมป์เป็นเสียงเงียบที่ไม่อยากเผยตัว ไม่มีใครกล้ายอมรับและบอกผลกับโพลต่างๆ เพราะกลัวถูกมองว่าประหลาด
          หากเราดูสื่อใหญ่ๆ ของอเมริกา เราจะเห็นได้ค่อนข้างชัดเจนว่านายทรัมป์นั้นจะถูกมองว่าเป็นตัวตลกตลอด สิ่งที่เขาพูดจะโดนล้อผ่านสื่อต่างๆ ไม่เคยมีสื่อยักษ์ใหญ่ไหนที่ให้ภาษีเขาในการลงแข่งขัน ฝ่ายผู้สนับสนุนนางฮิลลารีก็จะคิดว่าพวกที่สนับสนุนทรัมป์เป็นผู้ที่ โง่” “ประหลาด” “ไร้การศึกษา” “ไม่เข้าใจค่านิยมอเมริกันอะไรต่างๆ นานา ในสังคมเมือง สังคมคนที่มีการศึกษาสูง ในรั้วมหาลัยต่างๆ ที่ส่วนใหญ่สนับสนุนฮิลลารี การเป็นผู้สนับสนุนทรัมป์ในหลายๆ พื้นที่จึงถือว่าเป็นเรื่องน่าอายเลยเสียด้วยซ้ำ
          ด้วยเหตุนี้ มีผู้ให้ความเห็นว่าโพลต่างๆ นั้นจริงๆ แล้วไม่สามารถหยั่งเสียงแล้วเจอผู้สนับสนุนนายทรัมป์ได้เพียงพอที่จะคาดเดาผลลัพธ์ของการเลือกตั้งได้ถูกต้อง ซึ่งทำให้ทีมของนางฮิลลารีนั้นวางแผนผิดพลาด
          3. สื่อออนไลน์ทำให้ผู้คนทั่วไปอยู่ในกะลา ได้รับข้อมูลจากฝ่ายที่ตนสนับสนุนอยู่แล้ว
          นักวิเคราะห์หลายท่านให้ความเห็นว่า สื่อออนไลน์ อย่างเช่น Facebook นั้นทำให้ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนได้รับรู้แต่ความคิดเห็นที่ตัวเองเห็นด้วยอยู่แล้ว ขั้นตอนของโปรแกรมที่ถูกตั้งไว้ (algorithm) ทำให้สิ่งที่เด้งขึ้นมาให้เห็นนั้นเป็นข้อความคิดเห็นในแบบเดียวกับที่ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนท่านนั้นเคยกด Like กด Share หรือเป็นโพสต์ต่างๆจากเพื่อนคนเดิมๆ ที่เขาโต้ตอบด้วยเป็นประจำ การเสพสื่อจากคนรอบข้างออนไลน์แบบนี้ทำให้เกิดมโนคติว่าฝ่ายที่ตนเองชื่นชอบอยู่แล้วนั้นมีผู้สนับสนุนเต็มไปหมด (ภาษาอังกฤษเรียกว่า echo chamber หรือ bubble) ประกอบกับสื่อใหญ่ๆ ก็สนับสนุนนางฮิลลารีกันทั้งนั้น ทำให้เกิดภาพลวงตาว่าพวกเขาน่าจะชนะการเลือกตั้งได้ไม่ยาก



          4. “ความยโสโอหังของฝ่ายอำนาจเก่าโดนลงโทษ
          ฝ่ายอำนาจเก่าในที่นี้หมายถึงชนชั้นผู้นำทางการเมืองของพรรคเดโมแครตของนางฮิลลารี พวกเขาถูกมองว่ามีความยโสโอหังเป็นอย่างมาก จากผู้ที่สนันสนุนพรรครีพับลิกัน
          ก่อนการเลือกตั้ง ไม่เป็นเรื่องที่แปลกนักหากจะมีนักวิเคราะห์ที่เชียร์นางฮิลลารีหยอกล้อกันว่า พรรครีพับลิกันนั้น จบแล้ว” “ไม่ควรมีอยู่แล้ว” “ไม่รู้มีไปทำไมฯลฯ
          ความประมาทนี้เกิดจากความมั่นใจเกินไปของพรรคเดโมแครต และนางฮิลลารี เธอมีวอลล์สตรีทหนุนหลัง สามารถระดมทุนได้มากว่านายทรัมป์ถึงกว่า 13,000 ล้านบาท มีทั้งอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน และประธานาธิบดีโอบามาช่วยเธอหาเสียง เครื่องจักรและเครือข่ายของพรรคเดโมแครตทำงานช่วยเหลือเธอ ความพร้อมเหล่านี้ บวกกับประสบการณ์และชื่อเสียงของเธอ ทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าเธอจะชนะ แต่ด้วยเพราะสิ่งเหล่านี้เช่นกัน ทำให้นายทรัมป์ในสายตาของผู้สนับสนุนหรือผู้ที่ยังไม่ได้ตัดสินใจดูเหมือนเป็นผู้ถูกรังแก ไม่มีอดีตประธานาธิบดีคนไหนสนับสนุนเขา ผู้นำในพรรครีพับลิกันหลายคนก็ไม่สนับนุนนายทรัมป์ ทั้งๆที่เขาอยากจะทำลายขั้วอำนาจเก่าที่ทำให้ประชาชนกลุ่มใหญ่รู้สึกถูกเอาเปรียบมานาน
          5. ตัวเลือกที่ผิดตั้งแต่ต้น
          นางฮิลลารีมีจุดอ่อนมากมาย การที่เธอมีประสบการณ์มากในทางการเมือง ทำให้เธอถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาสังคมต่างๆ ที่ประชาชนในชนบทกำลังเผชิญ และผู้คนในเมืองใหญ่ไม่มีทางเข้าใจพวกเขาได้ เธอจึงไม่ได้สร้างความตื่นเต้นให้กับการเลือกตั้งครั้งนี้สำหรับคนกลุ่มใหญ่
          นอกเหนือจากนั้น เธอยังมีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือ เช่น เรื่องการที่เธอใช้อีเมลส่วนตัวของเธอแทนที่จะใช้อีเมลทางการในการติดต่องานในขณะที่เธอเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ และเรื่ององค์กรการกุศลของสามีของเธอถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับแหล่งที่มาของเงิน สองเรื่องนี้เป็นปัจจัยใหญ่ที่ทำให้ความน่าเชื่อถือของเธอลดลงจนเป็นปัญหา และนายทรัมป์เองก็มองเห็นจุดอ่อนนี้ และใช้มันเล่นงานนางฮิลลารีในระหว่างการหาเสียง

          มีตัวเลือกของพรรคเดโมแครตหลายๆ คนที่โดนมองข้าม หนึ่งในนั้นคือนายเบอร์นี แซนเดอร์ส (Bernie Sanders) ซึ่งต้องการทำให้สหรัฐอเมริกาเป็นรัฐสวัสดิการมากขึ้น นายเบอร์นีไม่มีข้อครหาเหมือนนางฮิลลารี เขาต่อต้านบริษัทยักษ์ใหญ่ ต่อต้านวอลล์สตรีท แต่เครื่องจักรทางการเมืองของพรรคเดโมแครตก็เทเสียงสนับสนุนให้กับนางฮิลลารีในการเลือกตั้งภายในของพรรค มีข้อกล่าวหาว่าทางผู้นำและคนทำงานในพรรคเดโมแครตมีความลำเอียง พยายามทำให้นางฮิลลารีได้เปรียบนายเบอร์นีในหลายๆทาง



          6. ไม่มีความเอาใจใส่ฐานเสียงเดิม
          นางฮิลลารีไม่สามารถรักษาฐานเสียงเดิมของนายโอบามาไว้ได้ มีในหลายพื้นที่และคนหลายกลุ่มที่นายโอบามาสามารถเรียกเสียงสนับสนุนในการเลือกตั้งปี 2012 แต่ในปีนี้นางฮิลลารีไม่สามารถรักษาฐานเสียงนั้นไว้ได้ ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดและเป็นเหตุผลหลักของความปราชัยคือ ในแถบรัสต์เบลต์ (Rust Belt) ทางตอนตะวันออกเฉียงเหนือของอเมริกา ที่มีรัฐวิสคอนซิน รัฐมิชิแกน รัฐโอไฮโอ และรัฐเพนซิลเวเนีย ซึ่งเคยเทคะแนนเสียงให้โอบามานั้น กลับมาสนับสนุนนายทรัมป์ในการเลือกตั้งครั้งนี้ รัสต์เบลต์เป็นฐานผลิตรถยนต์ มีเหมืองแร่ถ่านหินและเขตอุตสาหกรรมหนักอื่นๆของอเมริกา แรงงานในแถบนี้ชอบทรัมป์เพราะเขาเป็นนักธุรกิจ เอาจริงเรื่องการจัดการกับคนหลบหนีเข้าเมือง เขาจะเอาจริงเรื่องการต่อรองเจรจาข้อตกลงการค้าต่างๆ เพื่อทำให้อเมริกาได้เปรียบ และรักษางานสำหรับแรงงานเหล่านี้ไว้ในประเทศ คนกลุ่มนี้ปกติแล้วคือฐานเสียงของพรรคเดโมแครตที่ต้องการสวัสดิการสังคมต่างๆ โอบามาทำได้ดีกับคนกลุ่มนี้ แต่นางฮิลลารีไม่ได้ให้ความสำคัญเพราะทางทีมงานของเธอมีความมั่นใจว่าฐานเสียงตรงนี้เป็นของพรรคเดโมแครต เธอไม่เคยไปเยือนรัฐวิสคอนซินหลังได้รับเป็นตัวเลือกของพรรคเดโมแครต และไปเยือนเมืองดีทรอยต์ที่เป็นแหล่งผลิตรถยนต์ของสหรัฐฯในรัฐมิชิแกนเพียงวันศุกร์ที่ผ่านมาก่อนการเลือกตั้งเท่านั้น
          7. มีคนที่รู้สึกว่าสิทธิและความคิดเห็นของตนถูกละเลยมากพอ
          กลุ่มคนในแถบรัสต์เบลต์ ผู้ใช้แรงงาน คนในเขตชนบท และคนที่มีอายุสูง มีความรู้สึกถูกเอาเปรียบจากโลกโลกาภิวัตน์ พวกเขาไม่สามารถปรับตัวกับโลกยุคดิจิทัล หลายคนตกงานเพราะงานถูกส่งไปให้โรงงานในต่างประเทศที่ค่าแรงถูกกว่า ผู้คนเหล่านี้เจ็บปวด รู้สึกว่าสิทธิและความคิดเห็นของตนถูกมองข้าม โดนเอาเปรียบจากผู้กุมอำนาจการเมืองในเมืองหลวง และอำนาจเศรษฐกิจในเมืองใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่จะให้การสนับสนุนนางฮิลลารีแบบไม่ตั้งคำถามด้วยซ้ำ ฐานเสียงตรงนี้เป็นกลุ่มคนที่นายเบอร์นีมองออก และหลายคนพร้อมสนับสนุนนายเบอร์นีเพราะนโยบายรัฐสวัสดิการของเขา แต่ในเมื่อพรรคเดโมแครตให้นางฮิลลารีเป็นตัวเลือก ซึ่งเธอมีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือ เสียงเหล่านี้จำนวนหนึ่งจึงเหวี่ยงไปให้กับฝั่งตรงข้ามคือนายทรัมป์ที่พยายามเจาะจงหาเสียงกับคนกลุ่มนี้ และมันก็เป็นจำนวนที่มากพอจะทำให้นายทรัมป์ได้รับชัยชนะ



          8. กลุ่มผู้หญิง แอฟริกันอเมริกัน และชาวอเมริกาใต้ ไม่ออกมาใช้เสียงมากพอเพื่อสนับสนุนนางฮิลลารี
          นางฮิลลารีหวังไว้ว่าเธอจะสามารถพึ่งฐานเสียงที่ถูกทอดทิ้งจากชนชั้นนำได้ แต่เธอกลับทำได้ไม่ดีและแย่กว่านายโอบามาในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วเสียอีก ผู้หญิงที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีสนับสนุนนางฮิลลารี 51% แต่สนับสนุนนายทรัมป์ถึง 45% ซึ่งถือว่าเป็นคะแนนเสียงที่นายทรัมป์ดึงไปจากนางฮิลลารีได้เยอะมาก ทางพรรคเดโมแครตหวังไว้ว่าจะได้มากกว่านี้อย่างแน่นอนเพราะการพูดดูถูกเสียดสีผู้หญิงของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่น่าจะทำให้เรียกคะแนนเสียงได้ แต่ความจริงก็เป็นไปอย่างตรงกันข้าม
          กลุ่มชาวแอฟริกันก็เช่นกัน พวกเขาเทคะแนนเสียงทั้งหมด 88% ให้นางฮิลลารี แต่ในปี 2012 กลุ่มนี้โหวตให้โอบามาถึง 93% ส่วนกลุ่มชาวอเมริกาใต้ (ลาติโน) ที่นายทรัมป์ดูถูกเสียดสีมาตลอดนั้นโหวตให้กับนายทรัมป์ถึง 29% ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่เหนือความคาดหมาย ตัวเลขต่างๆ เหล่านี้แสดงให้เห็นว่าประชาชนให้ความสนใจเรื่องเพศ เรื่องสีผิว เรื่องเชื้อชาติ น้อยกว่าปัญหาปากท้อง ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม และปัญหาความน่าเชื่อถือของนางฮิลลารี ทำให้นางฮิลลารีเป็นตัวเลือกที่ไม่ตื่นเต้น และส่งผลให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งโดยเฉพาะชนกลุ่มน้อยและผู้หญิงออกมาใช้เสียงกันน้อยกว่าจำนวนที่พรรคเดโมแครตและนางฮิลลารีหวังไว้ และถ้าออกมา พวกเขาเหล่านี้ก็ไม่ได้สนับสนุนนางฮิลลารีในจำนวนที่คาดการณ์ไว้



          ข้อผิดพลาดทั้งหมดที่กล่าวมาของนางฮิลลารีและพรรคเดโมแครตถ้าหากมองหลังการเลือกตั้งแล้วจะเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่นักแต่นักวิเคราะห์ นักวางแผน และทีมเลือกตั้งของนางฮิลลารีคาดการณ์ไว้ผิดหมด จึงทำให้เราเห็นผลของการเลือกตั้งแบบช็อกโลกเช่นนี้
          การเปลี่ยนแปลงทางภาคสังคม ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจการรู้สึกถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ที่มีโอกาสมากกว่าเป็นปัญหาที่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในสหรัฐอเมริกา อาจจะเรียกได้ว่าประเทศไทยเราเองเจอปัญหานี้มาก่อนสหรัฐอเมริกาเสียอีก และยังเป็นปัญหาเพิ่มขึ้นทุกวัน มันเป็นปัญหาที่ระบบทุนนิยมทำให้คนที่มีโอกาสทางการศึกษา ทางการเงิน ทางสังคมเดินหน้าได้เร็วกว่าคนที่ด้อยโอกาสและผู้โชคดีเหล่านี้มักจะหลงลืมหน้าที่ของตนเอง เราเอาตัวรอดในสังคมเมืองสังคมชั้นสูง สังคมที่อยู่อย่างโดดเดี่ยวเดียวดายท่ามกลางปัญหาต่างๆที่เราปิดตาและทำเป็นมองไม่เห็นเราทุกคนที่ถือว่าตนเองเป็นผู้โชคดีเหล่านี้มีหน้าที่ที่จะต้องสร้างความสัมพันธ์กับคนที่มีโอกาสน้อยกว่าคนที่อยู่ต่างจังหวัด คนที่มีฐานะน้อยกว่า คนที่มีการศึกษาด้อยกว่าและคนที่มีความคิดทางการเมืองที่แตกต่างจากเรา เราจะไม่สามารถเดินหนีปัญหาของคนเหล่านี้ และเอาตัวรอดอย่างเดียวดายได้


ที่มา: ไทยพับลิก้า, www.thaipublica.org


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น